July 24, 2009
Posted by KOBSAK (ADMIN)
About
กอบศักดิ์ ภูตระกูล
………………………………………………
กอบศักดิ์ ภูตระกูล สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจาก Massachusetts Institute of Technology ด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคและเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2539 และการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก Williams College ประเทศสหรัฐอเมริกา ทางด้านคณิตศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2535 ภายใต้ทุนการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ครั้นจบการศึกษา ได้กลับมาปฏิบัติงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2539 จนถึงปัจจุบัน โดยมีประสบการณ์ทำงานในด้าน นโยบายการเงิน นโยบายเศรษฐกิจมหภาค นโยบายสถาบันการเงิน และได้ถูกส่งตัวไปช่วยงานที่ทำเนียบรัฐบาลในช่วงปี พ.ศ. 2541 รวมทั้งได้ถูกขอยืมตัวไปทำงานที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในตำแหน่งผู้บริหารสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน และผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดูแลฝ่ายพัฒนากลยุทธ์ ในระหว่างปี พ.ศ. 2550-2552 หลังจากนั้น กลับมาทำงานที่ ธปท. เป็นเวลาประมาณ 2 ปีตำแหน่งผู้บริหารส่วนกลยุทธ์นโยบายการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย รับผิดชอบงานเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินและประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2552 ได้รับรางวัล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สำหรับนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีผลงานดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2552 จากสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ สถาบันทางวิชาการเศรษฐศาสตร์ 7 สถาบัน และกองทุนป๋วย อึ๊งภากรณ์ มูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคำประกาศเกียรติคุณของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กลั่นกรองผลงานวิชาการในการมอบรางวัล เขียนไว้ว่า
“ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็นนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ซึ่งมีความแม่นยำและความลุ่มลึกในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ มีความรัดกุมในวิธีวิทยา ตลอดจนมีความสามารถในการประยุกต์ใช้วิธีการทางเทคนิคในการทดสอบแนวคิดทางทฤษฎีต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมไม่ฟุ่มเฟื่อย และมีความโดดเด่นที่สามารถตีความข้อมูลเชิงประจักษ์ที่คุ้นเคยให้เกิดมุมมองใหม่ที่น่าสนใจและเข้าใจได้ง่าย งานวิชาการของ ดร. กอบศักดิ์ หลายชิ้นสามารถก่อให้เกิดการถกเถียงและเปิดประเด็นให้เกิดการศึกษาวิจัยสื่บเนื่องอย่างกว้างขวาง
ผลงานวิชาการคุณภาพสูงจำนวนมากของ ดร. กอบศักดิ์ ได้แสดงให้เห็นถึงฉันทะทางวิชาการและความสนใจในการศึกษาวิจัยในเรื่องต่างๆ ที่หลากหลาย ครอบคลุมปริมณฑลทางวิชาการอย่างกว้างขวาง ทั้งเรื่องนโยบายการเงิน การออม สินเชื่อ ทุนมนุษย์ การประกันสังคม และการค้าระหว่างประเทศ โดยทุกเรื่องล้วนมีนัยทางนโยบายต่อการพัฒนาประเทศไทย
คณะกรรมการกลั่นกรองผลงานวิชาการ ซึ่งได้รับมอบหมายจากสถาบันทางวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ 7 สถาบัน จึงมีมติมอบ “รางวัล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สำหรับนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีผลงานดีเด่น” เพื่อเป็นกำลังใจในการสร้างผลงานทางวิชาการต่อไป และเพื่อเป็นตัวอย่างที่สร้างแรงดลใจให้แก่นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่คนอื่นๆ ในการทำงานวิชาการในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง”
เมื่อวันที่ 7 กรกฏาคม 2553 ได้รับทุนพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย จากมูลนิธิ 50 ปี ธปท. เพื่อทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “ปัญหาการกระจายรายได้ในไทยและทางออก” และล่าสุดได้ลาออกจากธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อมาหาประสบการณ์การทำงานในภาคเอกชน โดยเริ่มทำงานเมื่อเดือนธันวาคม 2553 ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ
ในช่วงที่ผ่านมา กอบศักดิ์มีผลงานวิจัยที่น่าสนใจในหลายด้าน ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับ นโยบายการเงิน สถาบันการเงิน ตลาดทุน การค้าระหว่างประเทศ การออมระยะยาว การศึกษา ระบบประกันสังคม และการพัฒนาประเทศ โดยได้มีส่วนร่วมในการช่วยพัฒนาและวางนโยบายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ การวางกรอบนโยบายการเงินโดยใช้เงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย การจัดทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทย การพัฒนากรอบแนวคิดทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงในระดับมหภาคและในการพัฒนาประเทศ การกำหนดกรอบการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ส่วนหนึ่งเพื่อการเจรจา FTA แนวทางในการเปิดเสรีภาคการเงิน รวมทั้งนโยบายการออม นโยบายการศึกษา นโยบายเพื่อดูแลปัญหาสังคมชราภาพ และนโยบายการดูแลระบบประกันสังคม เป็นต้น
ระหว่างปฏิบัติงานที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญในช่วงที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของตลาดทุนไทย ทั้งในส่วนของการปรับโครงสร้างตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพ (Demutualization) อันจะเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยยกระดับการแข่งขันของตลาดทุนไทยในระบบการเงินโลก และนำไปสู่การจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาตลาดทุน ทำหน้าที่เป็นองค์กรหลัก รับผิดชอบดูแลด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของตลาดทุนไทยในระยะยาว รวมทั้ง ช่วยในการจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนไทย (ฉบับปี พ.ศ. 2552) การดำเนินการเพื่อนำตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเชื่อมโยงกันผ่านระบบ ASEAN Exchange Gateway เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาค และการสำรวจศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมและทัศนคติของนักลงทุน บริษัทจดทะเบียน ผู้ให้บริการทางการเงิน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประกอบการกำหนดกรอบนโยบายการพัฒนาตลาดทุนที่เหมาะสมต่อไป
นอกจากนี้ ในด้านการสอนหนังสือ ยังได้เป็นอาจารย์พิเศษในโครงการและหลักสูตรต่างๆ เช่นที่ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นต้น
การศึกษา
– ปริญญาเอก เศรษฐศาสตร์มหภาค และเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ MIT สหรัฐอเมริกา ปี 2539
– ปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์ และคณิตศาสตร์ Williams College สหรัฐอเมริกา ปี 2534
– มัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ปี 2529
ทุน
– ทุนธนาคารแห่งประเทศไทย (ปี 2529-2539)
การทำงาน
ที่ธนาคารกรุงเทพ
– ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ (เริ่มธันวาคม 2553)
ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ยืมตัวจากธนาคารแห่งประเทศไทย)
– ผู้บริหารสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน และ ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ดูแลงานด้านกลยุทธ์ (ตุลาคม 2550–มกราคม 2552)
– ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน (เมษายน 2550-กันยายน 2550)
ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย
– ผู้บริหารส่วน
ส่วนกลยุทธ์นโยบายการเงิน (กุมภาพันธ์ 2552–ตุลาคม 2553)
ส่วนเศรษฐกิจมหภาค (พฤษภาคม-กันยายน 2550)
– ผู้บริหารทีม
ทีมนโยบายเศรษฐกิจมหภาค (ปี 2549-เมษายน 2550)
ทีมเศรษฐกิจมหภาค (ปี 2548)
ทีมนโยบายการค้าและเงินทุน (ปี 2547)
– รักษาการ ผบ.ทีม
ทีมนโยบายการค้าและเงินทุน (ปี 2546)
– เศรษฐกรอาวุโส
ทีมกลยุทธ์ สายนโยบายสถาบันการเงิน (ปี 2545)
ทีมวิจัยระบบสถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน (ปี 2544)
ทีมวิเคราะห์นโยบายการเงิน (ปี 2543)
– เศรษฐกร
สายงานวิจัย (ปี 2542)
ทำเนียบรัฐบาล-ช่วยงานท่านนายกรัฐมนตรี (พฤษภาคม-ธันวาคม 2541)
ทีมดุลการชำระเงิน (ปี 2539-พฤษภาคม 2541)
กรรมการ
– กรรมการและเลขานุการ คณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนไทย (ปี 2551
– กรรมการคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ เกี่ยวกับการปรับปรุงระบบการเงินและการงบประมาณ (ปี 2546-ปัจจุบัน)
– กรรมการคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำของกรุงเทพมหานคร (ปี 2548-2549)
– กรรมการคณะทำงานด้านวิชาการ ของอนุกรรมการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ปี 2546-2550)
อ้างอิง
คว้ารางวัล ‘ป๋วย’ นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ กอบศักดิ์ ภูตระกูล, ฐานเศรษฐกิจ
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ กับรางวัล “ป๋วย อึ๊งภากรณ์” , ประชาชาติธุรกิจ
PowerPoint ประกอบการบรรยายรับรางวัล “ป๋วย อึ๊งภากรณ์” , คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
การออมกับความจน-ความรวย , ประชาชาติธุรกิจ
ตลท. แต่งตั้ง ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน , ผู้จัดการ
หนังสือพิมพ์
มาตรการ “ตะกุยน้ำ” รับมือ “QE2”, ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2553
“Do it..QE2” สภาพคล่องท่วมโลก เอ่อขังเอเชีย..นับถอยหลังวิกฤตรอบใหม่, ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2553
วิกฤติโลก-ศก.ไทย ในสายตานักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ ‘ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล’, ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 18 มีนาคม 2552
ปรับทิศแก้เศรษฐกิจก่อนสาย , Post Today วันที่ 10 สิงหาคม 2552
โทรทัศน์ วิทยุ
ออมเงินกันดีกว่าท่ามกลางสภาวะวิฤต, รายการ “จับเงินชนทอง” วันที่ 10 มีนาคม 2552
เงินจะฝืดหรือไม่ , รายการ “จับเงินชนทอง” วันที่ 3 เมษายน 2552
แก้ไขครั้งล่าสุดเมื่อ กรกฏาคม พ.ศ. 2552