BLOG Dr. KOB

Dr. KOBSAK POOTRAKOOL A Macroeconomist

  • BlogArticles
  • Interviewsrecent issues
  • Treasuresfrom the web
  • About

June 17, 2016
Posted by KOBSAK (ADMIN)

ธนาคารกลางสหรัฐ และ ความผันผวนในตลาดการเงินโลก

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ดัชนีค่าเงินสหรัฐได้ลดค่าลงอย่างรวดเร็วถึง 1.7% จากเดิมที่ทยอยแข็งตัวมาสี่สัปดาห์ต่อเนื่อง ราคาทองคำโลกเพิ่มขึ้น 34 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือเพิ่มประมาณ 2.8% จากที่ลดลงต่อเนื่องมาเกือบเดือน ส่วนราคาพันธบัตรและสินทรัพย์อื่นๆ ก็ได้ปรับตัวเช่นกัน

ทั้งหมดนี้ เมื่อกล่าวไปแล้วเป็นผลเนื่องมาจากเฟดหรือธนาคารกลางสหรัฐ

ธนาคารกลางสหรัฐ : ต้นตอสำคัญของความผันผวนในตลาดการเงินโลก

ไม่ว่าจะมองในมุมไหน ข้อสรุปสำคัญสำหรับหนึ่งปีที่ผ่านมา ก็คือ ธนาคารกลางสหรัฐเป็นต้นตอสำคัญของความผันผวนต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดการเงินโลก

ครั้งที่ 1 ถ้าทุกคนลองย้อนกลับไปดูจะพบว่า เมื่อคุณเยเลน ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ ประกาศจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงปลายปีที่แล้ว พร้อมส่งสัญญาณไปข้างหน้าว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 4 ครั้งในช่วงปี 59 ตลาดและนักลงทุนซึ่งศรัทธาและเชื่อตามนั้น จึงได้เตรียมการรองรับ ส่งผลให้เบ็ดเสร็จแล้วค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น 7% จากระดับที่ 94 จุด เป็น 100.5 จุด ในช่วงสั้นๆ เพียง 6 สัปดาห์ ส่งผลต่อการไหลเวียนของเงินทุนในระบบการเงินโลกและค่าเงินของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (ซึ่งรวมถึงไทยด้วย) ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงไปแตะระดับ 36.4 บาทต่อดอลลาร์

ครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดความปั่นปวนในตลาดการเงินของประเทศต่างๆ เมื่อเริ่มต้นปี เช่น ในจีน ที่ปิดการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไปหลายครั้ง ในสหรัฐ ที่ดัชนี Dow Jones ลดลงจาก 17,500 เหลือเพียง 15,500 รวมไปถึงผลพวงต่อประเทศอื่นๆ ตลาดจึงได้เริ่มปรับมุมมองเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของธนาคารสหรัฐอีกรอบ ว่าเฟดคงไม่สามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ตามที่เคยประกาศไว้ ต้องยอมชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยออกไป ซึ่งเมื่อกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐบางท่านออกมายืนยัน ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและตลาดการเงินโลกจึงเข้าสู่ช่วงของความผันผวนรอบใหม่ โดยในครั้งนี้ ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ย้อนไปแตะ 92 จุดหรืออ่อนลงถึง 8.4% ทำให้ค่าเงินในกลุ่มประเทศเกิดใหม่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยสำหรับไทย แข็งไปที่ 34.7 บาทต่อดอลลาร์ (ซึ่งถ้าแบงก์ชาติเราไม่เข้ามาช่วยต้านไว้ จนเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เงินบาทก็คงแข็งขึ้นไปอีกหลายบาท)

ครั้งที่ 3-4 สำหรับความผันผวนรอบล่าสุด ในช่วงปลายเดือนที่แล้ว หลังจากมีการเผยแพร่บันทึกการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐเมื่อครั้งปลายเดือนเมษายน ซึ่งชี้ว่า กรรมการส่วนมากเห็นตรงกันว่า ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐพัฒนาดีขึ้นตามคาด ก็จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่สองในการประชุมกลางเดือนมิถุนายนนี้ ตลาดและนักลงทุนจึงเริ่มเตรียมการรอบใหม่ เพื่อรองรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอีกรอบไปที่ประมาณ 96 จุด ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง ก่อนที่จะเปลี่ยนทิศทางอีกครั้งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐที่ประกาศออกมา เพิ่มเพียง 38,000 ตำแหน่ง จากที่คาดกันไว้ที่ 160,000 ตำแหน่ง และที่เฉลี่ยปกติประมาณ 200,000 ตำแหน่ง ทำให้หลายคนคิดว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดคงต้องชะลอออกไป

บทเรียนจากทั้งหมดนี้ คืออะไร

บทเรียนสำคัญจากทั้งหมดนี้ ก็คือ เราต้องอยู่กับความผันผวนเช่นนี้ไปอีกระยะ และอนาคตจะมีความผันผวนครั้งที่ 5 6 7 8 … ต่อไป

โดยปกติแล้ว ธนาคารกลางสหรัฐเป็นธนาคารกลางที่โปร่งใสที่สุด มีการตัดสินใจที่เข้าใจง่าย ชัดเจนที่สุด โดยเมื่อจะขึ้นดอกเบี้ย ก็จะเริ่มเตรียมตลาด ครั้นเริ่มขึ้นดอกเบี้ย ก็จะเข้าสู่ช่วงที่เรียกว่า up cycle โดยจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องทุกการประชุม ส่วนมากครั้งละ 0.25% จนบรรลุเป้าหมาย ที่ตั้งใจไว้ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงปี 47-49 เฟดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อกันเป็นเวลา 2 ปีต่อกัน จาก 1.0% เป็น 5.25% ครั้นเมื่อคงดอกเบี้ย ก็จะคงดอกเบี้ยไประยะเวลาหนึ่ง และเมื่อถึงเวลาต้องลงดอกเบี้ย ก็จะเริ่มเตรียมตลาดอีกครั้ง ครั้นเมื่อเริ่มลงดอกเบี้ย ก็จะเข้าสู่ช่วง down cycle โดยปรับลงดอกเบี้ยต่อเนื่องทุกการประชุม จนถึงระดับที่ต้องการ แล้วคงไว้ที่ระดับดังกล่าว

การทำเช่นนี้ ทำให้ตลาดไม่ต้องเดาใจคณะกรรมการฯ ว่าครั้งนี้จะขึ้น หรือจะคงดอกเบี้ย และทำให้ตลาดไปถูกทาง สามารถปรับตัวเตรียมการไปล่วงหน้าก่อน ช่วยเพิ่มประสิทธิผลของการดำเนินนโยบาย และช่วยลดความผันผวนที่ไม่จำเป็นในระบบการเงินโลก

แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดรอบล่าสุดนี้ สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ เฟดมือไม่นิ่ง ปรับมุมมองและแนวนโยบายตลอดเวลา ทำให้ตลาดต้องเริ่มเล่นเกมส์เดาใจ ว่าเฟดจะขึ้นหรือไม่ขึ้น และถ้าจะขึ้น เฟดจะดูดัชนีตัวไหนเป็นตัวตัดสินสำคัญ ซึ่งในด้านหนึ่งกล่าวได้ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐทำไปเช่นนี้ด้วยความปรารถนาดี ที่ไม่อยากผลีผลาม อยากให้เศรษฐกิจสหรัฐมีฐานที่มั่นคง พอที่จะรองรับดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นได้จริงๆ ไม่ต้องการพลาด ถอนยาก่อนที่คนป่วยจะดีขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่ง การทำเช่นนี้กลับทำให้เกิด policy uncertainty ที่สร้างความผันผวนในตลาดการเงินโลกอย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็น

ที่น่ากังวลใจยิ่งกว่านั้นคือ เมื่อเฟดเลือกทางเดินเช่นนี้ ทางเดินที่ปรับเปลี่ยนได้ตามข้อมูลที่เข้ามา หรือพูดง่ายๆ เหยียบเรือสองแคม เปิด option ไว้ตลอดเวลา ขึ้นก็ได้ คงก็ได้ สิ่งที่จะหายไปคือ (1) ประสิทธิผลของนโยบาย เนื่องจากตลาดไม่สามารถเตรียมการไปล่วงหน้าได้ว่า แนวโน้มดอกเบี้ยจะไปในทิศทางไหน และ (2) ความศักดิ์สิทธิ์และความน่าเชื่อถือของคำประกาศและคำพูดของคณะกรรมการฯ ที่จากเดิมที่ทุกคนเคยเชื่อกันสนิทใจว่า เมื่อคุณเยเลนประกาศเริ่มขึ้นดอกเบี้ย ก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของต้นทุนการกู้ยืมของทุกคนใน 2-3 ปีข้างหน้า ที่จะมีนัยอย่างกว้างขวาง ต้องเตรียมการรองรับให้เพียงพอไปข้างหน้า รวมทั้งให้น้ำหนักกับการที่คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐวางกรอบการขึ้นดอกเบี้ยไว้ที่ 4 ครั้งในปี 59 แต่เมื่อมาถึงจุดนี้ จากการกลับไปกลับมา คำพูดและคำประกาศของคุณเยเลน และคณะกรรมการฯ มีค่าเหลือแค่เพียงเป็นแนวคิด ความปรารถนา คำประกาศ คำพูดที่รับฟังเอาไว้ แต่อาจเปลี่ยนได้ หากข้อมูลไม่เอื้ออำนวย และการเตรียมการรองรับก็ทำแบบครึ่งๆ เผื่อว่าเฟดจะเปลี่ยนใจอีก

แล้วเราจะอยู่อย่างไรในช่วงเวลาเช่นนี้

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราคงต้องทำใจว่า เรากำลังอยู่ในโลกที่เราไม่คุ้นเคย โดยมีธนาคารกลางสหรัฐเป็นตัวแปรสำคัญที่สร้างความผันผวนเพิ่มเติมให้กับตลาดการเงินโลก โดยตลาดและราคาสินทรัพย์สำคัญๆ อาจปรับขึ้นลงอย่างรวดเร็ว เพียงเพราะคำพูดของคนใดคนหนึ่ง หรือจากตัวเลขใดตัวเลขหนึ่งที่ประกาศออกมา กระทบไปถึงค่าเงินสกุลต่างๆ ค่าเงินบาท รวมไปถึงการไหลเวียนของเงินทุนในตลาดการเงินโลก ซึ่งความผันผวนนี้จะเกิดขึ้นไปอีกระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งเกมส์เดาใจเฟดจบลง

ในภาวะเช่นนี้ ในระยะสั้น เราต้องพยายามปกป้องตนเอง พยายามเข้าใจธนาคารกลางสหรัฐ ว่าเขากำลังปรับยาให้ตรงกับภาวะของคนไข้ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงได้ อีกทั้งยังมีปัจจัยในเศรษฐกิจโลกที่ทำให้เฟดกังวลใจอยู่เรื่อยๆ เช่น ในเดือนนี้ จะมีการลงประชามติของอังกฤษว่าจะออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ ดังนั้น เราจึงต้องทำใจว่า ระยะนี้ยังมี policy uncertainty จากการปรับมุมมองนโยบายการเงินของเฟด ที่อาจจะเกิดขึ้นในวันไหนก็ได้ และจะกระทบกับตัวแปรการเงินต่างๆ เช่น ค่าเงินบาท ที่สามารถปรับเปลี่ยนทิศได้ในเวลาข้ามคืน ด้วยเหตุนี้ หากเราเป็นผู้นำเข้าส่งออก ในช่วงที่ยังไม่ชัดเจนเช่นนี้ จึงเหมาะต่อการเลือกปกป้องความเสี่ยงค่าเงินไว้ในราคาที่เรารับได้ มากกว่าที่จะเสี่ยงไปกับสิ่งที่เอาแน่เอานอนไม่ได้

ในระยะยาว ขอฟันธงไว้ว่า ท้ายสุดธนาคารกลางสหรัฐก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยอยู่ดี เพราะเศรษฐกิจสหรัฐโดยรวมแล้วมีข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีและปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ที่สำคัญที่สุด ดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25-0.5% นั้น ต่ำเกินไป ไม่ปกติ ต้องพยายามหาทางปรับเพิ่มกลับขึ้นมา โดยจุดหักเหสำคัญ น่าจะเกิดขึ้นเมื่อเงินเฟ้อพื้นฐานสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นทะลุระดับที่เฟดกังวลใจ (คือมากกว่า 2% จาก 1.6% ในปัจจุบัน) เมื่อถึงจุดนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐคงจะเลิกลีลา ท่ามาก เกมส์การเดาใจเฟดก็จะจบลง เฟดก็จะกลับมาเป็นธนาคารกลางที่เข้าใจง่าย ชัดเจน กระบวนการขึ้นดอกเบี้ยก็จะเดินไปตามกรอบที่คาดการณ์กันไว้

ทั้งนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐเข้มแข็งกว่าสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน การปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐจะเกิดขึ้นก่อนประเทศเหล่านั้น อันจะนำมาซึ่งการปรับตัวครั้งสำคัญในตลาดการเงินโลก และแรงกดดันรอบใหม่ให้กับประเทศในตลาดเกิดใหม่ รวมไปถึงไทยด้วย ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนครับ

1 Comment

Posted Under My Articles Post Today

1 Comments

PWL
July 18, 2016 at 11.58 PM

Dear Mr. President , Mr Chairman

I am PWL the old one who told you on the subprime time. May I type something in Thai asking for peace. ผม PWL คนเดิมครับ ขอรบกวนส่งข้อความถึงท่านผู้มีอำนาจ ข้าพเจ้าขอถามถึงความสงบสุข และ การดูแล สร้างสังคมที่สงบสุข ทำไมบ้านท่านที่รอดจากการพิมพ์เงิน แต่ประเทศอื่นที่มีปัญหาเดียวกันกลับมีปัญหา กลับมีวิกฤติไปทั่วโลก เวเนซูเอล่า ประเทศเกือบล่มสลาย คนไม่มีจะกิน มีวิกฤติกับผู้คนทั่วไป น่าสงสารที่สุด
เหตุใดยังคงมีความน่ากลัวของสงครามทั่วไป ความไม่สงบสุขของศาสนาต่างๆ ท่านต้องยอมรับว่า บางครั้งคนบางคนได้สั่งการ ทำสิ่งไม่ดี ทิ้งไว้บนบ้านอื่นเมืองอื่นไว้มากมาย ท่านไม่ได้ทำสิ่งที่มีความรัก ความปรารถนาดี ให้กับประเทศอื่น ทิ้งไว้ ท่านออกมาด้วยความอดอยาก แห้งแล้ง ควันหลงของสงครามการไม่เยียวยา การไม่สร้างสิ่งดีๆ และ สร้างเศรษฐกิจดีๆให้กับประเทศเหล่านั้น ความแค้น ความไม่ดียังคงไม่จบสิ้น ท่านไม่ทำสิ่งดีๆ สร้างให้เขามีความสุข เหมือนที่เราเห็นคนของท่านมีความทุกข์ ความจน ชนชั้นล่างของอเมริกาจะมีวิกฤติ เราได้ปลดชนวนให้ท่าน เหตุใดท่านไม่ส่งต่อความสุขให้เขาเหล่านั้นบ้าง มันอาจจะลดความคุกรุ่นของควันหลงสิ่งที่ท่านได้ทำไว้ ให้เกิดความขัดแย้งกันน้อยลงก็ได้ ศาสนาสอนให้ทุกคนทำดี การที่คนของท่านสั่งให้เกิดสงคราม สั่งให้เกิดการปล้นทรัพยากร ผู้มีอำนาจเหล่านั้น ทำไมไม่ได้รับการลงโทษ ผู้ก่อการร้ายกลับมาทำกับคนบริสุทธิ์ ทำไมไม่ไปทำกับคนที่เขาเป็นต้นเหตุของสงคราม
น่าเศร้าที่ ทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี ไม่ว่าจะความรักของพระเยซูเจ้า ที่ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อความดี แต่เมื่อท่านรอด ท่านกลับนำความทุกข์ให้ประเทศอื่น โดยไม่มีการเยียวยา ทั้งๆที่ระบบการเงินของท่าน ก็รู้ว่ามีจุดบอด เรื่องของเงินที่ล้นโลก แต่กลับมีคนจนทั่วไปไหนคือความรักของพระเยซูเจ้า ใยพระเจ้าปล่อยให้คนชั่วที่เป็นคนก่อเหตุหลบอบยู่หลังฉาก และ ให้คนบริสุทธิ์เป็นผู้รับเคราะห์แทน เมื่อมีคนช่วยให้รอดพ้นอย่าง CDO CDS ก็กลับไปทำให้มีปัญหาแบบเดิม กลุ่มคนเดิมกลับใช้อำนาจเงินแสวงหาอำนาจเหมือนเดิม ข้าแต่พระเจ้าโปรดสร้างความยุติธรรมบนโลกด้วยเถิด
น่าเชื่อจะในสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้สอน ให้เราละซึ่งความโลภ ความโกรธ ความหลง โลภะ โทสะ โมหะ ราคา แต่เรายังคงทำสิ่งต่างๆด้วยความโลภ ไม่ได้เอื้อเฟื้อต่อเพื่อนมนุษย์ อย่างที่ควรจะเป็น เราทำเพื่อให้เราได้ผลประโยชน์ที่สุด บนเงินตราที่เป็นสิ่งสมมุติ ความอยากได้ทรัพยากรมาครอบครองโดยวิธีการก่อสงคราม ความหยุด ความเพียงพอความพอเพียง เท่านั้นที่จะตอบโจทย์
น่าเศร้าที่พระอัลเลาห์สอนให้มุสลิมเป็นคนดี แต่ด้วยสิ่งต่างๆที่คนบางคนทำ คนบางคนสั่งการ ทำให้เกิดความทุกข์เจ็บช้ำในใจของมุสลิมเหล่านั้น ทำให้ยากต่อการให้อภัย ท่านไม่ทำสิ่งดีๆตอบแทนสังคมเขา กลับจะให้คนกระหายสงคราม คนที่ไม่มีเมตตาจิต จะชึ้นมาเป็นผู้นำโลก
ไม่มีศาสนาไหนสอนให้คนเป็นคนเลว มักแต่ได้ ความต้องการครอบครองทุกสิ่งทุกอย่าง เขาเหล่านั้นต่างหาก ที่เป็นคนไม่มีศาสนา เป็นคนที่สร้างปัญหาให้กับทุกศาสนา น่าเศร้าใจที่โลกไม่มีความสงบสุขเสียที ควันหลงของสงคราม และ การก่อการร้ายเป็นเรื่องน่าเศร้า ที่ทำให้เราต้องแก้แค้นกันด้วยเชื้อชาติ ทั้งที่เริ่มต้นด้วยคนที่ไม่มีศาสนาในจิตใจเป็นคนสั่งการทำให้เกิดสงคราม และ ความโลภไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ใช่ความรัก ความแบ่งปัน ความสร้างสรรค์สิ่งดีงาม
เมื่อเรารู้ว่าประเทศท่านกำลังมีปัญหา เราทุ่มเท แลกสิ่งต่างๆให้กับท่าน ท่านคงไม่รู้ว่าเราเสียอะไรไปบ้างในการช่วยท่านและคนของท่านให้พ้นทุกข์ เหตุใดท่านยังปล่อยให้คนอื่นที่มีทุกข์อยู่ ทนทุกข์ต่อไป ท่านมีอำนาจ บารมี มีทุกสิ่งทุกอย่างที่จะสร้างโลกที่ดีๆได้ โลกที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ความเอื้อเฟื้อ ความช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก และ คุณงามความดี ท่านกลับไม่ทำสิ่งเหล่านั้น

Heal the world make it a better place
For you and for me and the entire
human race……..

With love and mercy,
PWL

Sorry, comments for this entry are closed at this time.

    • Posts
    • Twitter
    • Flickr
     

    ก้าวให...

    My Articles

     

    ถึงเวล...

    My Articles

     

    ภาพแห่...

    My Articles

    Sorry... I have not linked my Twitter
    to my blog yet
    Sorry... I have not set my Flickr
    account up yet
  • Pages

    • About
  • Categories

    • Bangkokbiznews
    • MY AEC มีทางรวย
    • My Articles
    • My Interviews
    • My Treasures
    • Post Today
    • Uncategorized
    • ไม่มีหมวดหมู่
  • Archives

    • 2020
      • August
    • 2018
      • January
    • 2017
      • August
    • 2016
      • February
      • June
      • October
    • 2014
      • January
      • May
    • 2013
      • March
      • April
    • 2009
      • July
  • Blogroll

    • Themes
  • Subscribe2


     

This site is using the Handgloves WordPress Theme
Designed & Developed by George Wiscombe Google+

Subscribe via RSS