BLOG Dr. KOB

Dr. KOBSAK POOTRAKOOL A Macroeconomist

  • BlogArticles
  • Interviewsrecent issues
  • Treasuresfrom the web
  • About

February 15, 2016
Posted by KOBSAK (ADMIN)

ความท้าทายรอบใหม่ในระบบเศรษฐกิจโลก

นับแต่ต้นปีเป็นต้นมา เหตุการณ์ที่ไม่ปกติในระบบการเงินโลกไม่ว่าจะเป็นราคาหุ้นในจีนที่ตกแล้วตกอีกในช่วงหลังปีใหม่ จนต้องปิดตลาด หยุดการซื้อขายไปหลายครั้ง ราคาหุ้นในตลาด NASDAQ ของสหรัฐที่ได้ตกลงกว่า 13% ราคาน้ำมันโลกที่ลงไปต่ำกว่า 27 ดอลลาร์/บาเรล ต่ำสุดในรอบ 13 ปี ค่าเงินสกุลหลักที่ผันผวนขึ้นลง ล่าสุด เงินดอลลาร์ สรอ. ได้อ่อนลงอย่างรวดเร็วในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ลดลงเกือบ 3% ใน 2 วัน ทำให้หลายๆ คนอดถามไม่ได้ว่า “กำลังเกิดอะไรขึ้นในระบบเศรษฐกิจการเงินโลก และต่อไปจะเป็นอย่างไร”

ก่อนตอบคำถามเหล่านี้ ต้องขอฟันธงไว้ก่อนว่า “เศรษฐกิจโลกใน 3 ปีข้างหน้าจะต่างจากช่วงก่อนหน้า อย่างที่เรียกได้ว่า เป็นหนังคนละม้วน”

หากยังจำกันได้ หลังวิกฤตการเงินโลกปะทุขึ้น ทุกประเทศต่างพากันพร้อมใจ ร่วมกันอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อต่อสู้ป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะ Great Depression ซึ่งก็ได้ผลตามที่หวัง โดยสภาพคล่องที่ได้อัดฉีดจนท่วมระบบ และเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น นำไปสู่การเก็งกำไร ส่งผลให้ราคาทองคำขึ้นไปแตะระดับ 1,900 ดอลลาร์ สรอ./ออนซ์ ราคาสินทรัพย์ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาอสังหาริมทรัพย์ ในประเทศต่างๆ พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และเงินได้ไหลไปท่วมประเทศเกิดใหม่ ที่กู้ยืมเงินกันเป็นจำนวนมาก

8 ปีให้หลัง เรากำลังเข้าสู่ช่วงใหม่ของความท้าทาย

หลังจากแก้ไขปัญหากันมานาน เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มกลับเป็นปกติ การจ้างงานลดลงมาระดับต่ำกว่า 5% ขณะที่ยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงสั้นๆ ได้กลับไปสู่หล่มของปัญหาอีกครั้ง เศรษฐกิจไม่สามารถขยับเขยื้อนได้ ต้องเร่งอัดฉีดกันเพิ่มเติม ส่วนประเทศเกิดใหม่ที่เคยคึกคัก ก็กำลังเผชิญกับปัญหาจากเงินที่ไหลออกและอาจเกิดวิกฤตได้ ที่สำคัญที่สุด จีนซึ่งต่อสู้กับปัญหาเศรษฐกิจมานาน กำลังอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด และกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนสำคัญ

ทั้งหมด มีนัยอย่างยิ่งต่อทุกคน โดยมี 3 ประเด็นซึ่งเราต้องระวัง

(1) ความผันผวนในระบบการเงินโลกที่จะเพิ่มขึ้นและจะปะทุเป็นระยะๆ โดยความแตกต่างของภาวะเศรษฐกิจ นำมาซึ่งความแตกต่างของนโยบายระหว่างธนาคารกลางสหรัฐ และกลุ่มของยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลหลักของโลกจะต้องปรับสมดุลกันเป็นระยะๆ และกระทบต่อการไหลเวียนของเงินทุนในระบบการเงินโลก จากเดิมที่ไหลออกจากประเทศหลักซึ่งร่วมกันอัดฉีดเงินไปสู่ตลาดต่างๆ กลายเป็นการไหลจากทุกที่กลับไปสู่สหรัฐ ที่กำลังดูดสภาพคล่อง เพื่อขึ้นดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ความปั่นป่วนในตลาดการเงินโลกอาจปะทุขึ้นเป็นช่วงๆ จากคำพูด คำสัมภาษณ์ หรือคำประกาศนโยบายต่างๆ ที่ออกมา เช่นที่เกิดขึ้นหลังผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรปยืนยันว่า “พร้อมจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้เศรษฐกิจยุโรปเดินหน้าไปได้” หรือหลังธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ แม้กระทั่งธนาคารกลางสหรัฐที่กำลังอยู่ในช่วงการปรับขึ้นดอกเบี้ยเข้าสู่ระดับปกติ ก็สามารถสร้างความปั่นปวนให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน เพราะมีแผนเตรียมจะขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ แต่มีกำหนดการประชุม 8 ครั้ง ทำให้บางครั้งต้องขึ้นดอกเบี้ย บางครั้งไม่ขึ้นดอกเบี้ย สลับกันไป (ปกติเวลาธนาคารกลางสหรัฐขึ้นดอกเบี้ย หรือลดดอกเบี้ย จะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องกันทุกการประชุม ทำให้ง่ายต่อการเข้าใจ) ดังนั้น การสื่อสารกับตลาดรอบนี้ จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยนักลงทุนพร้อมตีความเสมอว่า การตัดสินใจไม่ขึ้นดอกเบี้ยบางครั้งนั้น เป็นสัญญาณว่าจะเป็นการกลับลำนโยบาย และเป็นการหยุดถาวร ส่งผลให้เงินดอลลาร์ สรอ. พร้อมปรับขึ้นลงแรง ดังที่เกิดขึ้นช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

(2) กำลังซื้อโดยรวมในระบบเศรษฐกิจโลกจะซบเซาลง ทำให้ราคาสินค้าเกษตร ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับต่ำไปอีกระยะ โดยปัญหาเศรษฐกิจของจีน ยุโรป และญี่ปุ่น จะใช้เวลาแก้ไขอีก 4-5 ปี เนื่องจากปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และปัญหาหนี้เสียต่างๆ ที่สะสมไว้ ซึ่งการจะแก้ไขสะสางปัญหาเชิงโครงสร้างและล้างหนี้เสียในระบบ ปกติแล้วต้องใช้เวลานาน ซึ่งหมายความว่า ประเทศเหล่านี้อ่อนแอไปอีกไม่อีกระยะ (สหรัฐ แม้จะใหญ่และกำลังดีขึ้น แต่การนำเข้าเป็นสัดส่วนเพียง 16-17% ของ GDP เท่านั้น) ทำให้กำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจโลก จะยังคงไม่กลับไปสู่ภาวะปกติไปอีกระยะหนึ่ง มีผลต่อเนื่องไปยังราคาสินค้าเกษตร ราคาน้ำมัน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์

(3) กลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) จะอยู่ภายใต้แรงกดดันและต้องปรับตัวครั้งสำคัญ ทั้งจากเงินที่ไหลออกและจากดอกเบี้ยของสหรัฐที่กำลังจะปรับขึ้น โดยประเด็นนี้ ไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เรียกได้ว่า อยู่หางของมรสุม ไม่ค่อยรับผลกระทบมากนัก แต่หากเราไปดูประเทศเกิดใหม่อื่นๆ เช่น อาร์เจนติน่า รัสเซีย บราซิล ตุรกี หรือแอฟริกาใต้ รวมไปถึงกลุ่มที่ส่งออกน้ำมันหรือส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ ประเทศเหล่านั้นกำลังอยู่ในภาวะลำบากอย่างยิ่ง ขณะที่เงินบาทอ่อนลงเพียง 21.5% จากที่เคยแข็งสุดในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาที่ 28.67 บาท/ดอลลาร์ สรอ. ค่าเงินของอาร์เจนติน่า รัสเซีย บราซิล ตุรกี และแอฟริกาใต้ อ่อนลงแล้วถึง 79.0% 71.9% 63.2%62.4% และ 61.1% ตามลำดับ หรือ 3-4 เท่าของการอ่อนตัวของค่าเงินบาท ซึ่งเมื่อสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไป แรงกดดันและการปรับตัวของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ก็จะยิ่งเข้มข้นมากขึ้น

ทั้งหมดชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ช่วงใหม่ ที่อึมครึมมากขึ้น ที่ผันผวนมากขึ้น ซึ่งหมายความว่า เราต้องระมัดระวัง รู้จักปกป้องความเสี่ยง เร่งสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจไทย ให้มีภูมิคุ้มกัน เพื่อให้สามารถผ่านช่วงของความท้าทายที่รออยู่ได้ โดยในประเด็นนี้ โชคดีที่เศรษฐกิจไทยโดยรวม มีพื้นฐานที่ดี มีความเข้มแข็ง ไม่ได้สะสมปัญหาต่างๆ ไม่ได้กู้ยืมเงินจำนวนมากจากต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา เหมือนประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ รอบๆ ไทย ประเทศเพื่อนบ้านยังมีการขยายตัวในระดับที่ดีมาก ซึ่งจะเป็นกำลังซื้อทดแทนให้สินค้าไทย และเป็นเป้าหมายใหม่ของการลงทุน ที่เมื่อสำเร็จจะหลอมรวมกันเป็นห่วงโซ่การผลิตใหม่ของภูมิภาค ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมให้ไทยต่อไป

ผมขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนครับ

2 Comments

Posted Under My Articles Post Today

2 Comments

รักเธอประเทศไทย
February 29, 2016 at 07.49 PM

เรียนอาจารย์กอบ เช็ค inbox facebook ได้ไหมครับ

asdf
April 9, 2017 at 02.17 PM

เรียน อาจารย์กอบ

ที่จริง อเมรกา มีทุกอย่างไม่ใช่เหรอครับ รอด หนี้มหาศาล ด้วยการพิมพ์เงิน
ดูดซับสภาพคล่อง เอาเงินที่เสก ดูดเงินที่เสก ดูดเงินจริงในอดีตด้วย มีแต่ได้กับได้
และ รอดพ้น เศรษฐกิจ ด้วย การเพิ่ม MS ให้พอ กับวิกฤติ ด้วยระบบของเขาเอา

วิกฤติก็รอดพ้น เงินก็มีมหาศาล ใหญ่กว่าโลกใบนี้อีก 2 เท่า
คุมตลาดน้ำมัน ตลาดทอง ที่ขาดทุน ดุลบัญชีเดินสะพัด ก็เพราะ
Apple จ้างแรงงานราคาถูกจากจีน ผลิต ส่งเข้าอเมริกา และ Apple Inc
ก็ได้กำไรเพิ่มอีก 2 เท่า ของราคาต้นทุน ศก อเมกา บริษัทห้างร้าน ทำการตลาด
service ในอเมกา ก็รวยขึ้น กำไรก็อยู่กับคนอเมกา ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
แต่ GNP อเมการวยขึ้น ใหญ่ขึ้น กำไรตกกับ Apple Inc บ ษัท เมกา Apple Inc
ส่งออกไปขายอีกทั่ว โลก เขามีครบทุกอย่าง อย่างที่ประเทศมีวิกฤติ ประเทศอื่นๆไม่มี
ทำไมเขาถึง ยังต้องเป็นแบบนี้อีกอ่ะครับ ผมไม่เข้าใจ

การจ้างประเทศกสิกรรมผลิตของให้เขาไปขายสุดท้ายราคาแพงๆ ใครได้ประโยชน์ที่สุด ผมเองก็ยังงง งง

มียิ่งกว่ามีทุกอย่าง เขายังอยากได้อะไรอีก ควบคุมทุกอย่างก็ยิ่งว่าได้แล้ว น่าเศร้าที่สุด
บางครั้ง ความพอเพียงในใจคน ความช่วยเหลือคนโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน แบบที่เราอยากให้
เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ อาจเป็นเพียงฝันไป หวังว่าคนเราจะเปลี่ยนได้ด้วยความดี ผู้คนอีกมากมายไม่มียารักษาโรค ไม่มีอุปกรณ์การแพทย์ มีชีวิตที่ไม่ดี มีแต่ความจน ทุกข์ทรมาน ไม่มีอาชีพที่ดี
ในคุณธรรม ความดีงาม ความเอื้อเฟ้อ ไม่ให้ใครตกไปในความทุกข์ สวรรค์บนดิน มันคงไม่มีจริง
น่าเศร้า ที่เราช่วยคนผิด เพียงเพราะ ไม่อยากให้เขาตกในห้วงความทุกข์ทรมาน เหมือนที่เราเคยเจอ
แต่เขาก็ไม่เคยคิดจะเปลี่ยนแปลง

Sorry, comments for this entry are closed at this time.

    • Posts
    • Twitter
    • Flickr
     

    ก้าวให...

    My Articles

     

    ถึงเวล...

    My Articles

     

    ภาพแห่...

    My Articles

    Sorry... I have not linked my Twitter
    to my blog yet
    Sorry... I have not set my Flickr
    account up yet
  • Pages

    • About
  • Categories

    • Bangkokbiznews
    • MY AEC มีทางรวย
    • My Articles
    • My Interviews
    • My Treasures
    • Post Today
    • Uncategorized
    • ไม่มีหมวดหมู่
  • Archives

    • 2020
      • August
    • 2018
      • January
    • 2017
      • August
    • 2016
      • February
      • June
      • October
    • 2014
      • January
      • May
    • 2013
      • March
      • April
    • 2009
      • July
  • Blogroll

    • Themes
  • Subscribe2


     

This site is using the Handgloves WordPress Theme
Designed & Developed by George Wiscombe Google+

Subscribe via RSS