BLOG Dr. KOB

Dr. KOBSAK POOTRAKOOL A Macroeconomist

  • BlogArticles
  • Interviewsrecent issues
  • Treasuresfrom the web
  • About

June 25, 2016
Posted by KOBSAK (ADMIN)

A New Dawn for Britain

IMG_2343

ความผันผวนที่กำลังเกิด จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น และประวัติศาสตร์จะตัดสินว่าทางที่อังกฤษเลือกเดินเป็นหนทางที่เหมาะสมแค่ไหน ขอเป็นกำลังใจให้ครับ

The Road Not Taken

by Robert Frost (1920)

Two roads diverged in a yellow wood,
And sorry I could not travel both
And be one traveler, long I stood
And looked down one as far as I could
To where it bent in the undergrowth;

Then took the other, as just as fair,
And having perhaps the better claim,
Because it was grassy and wanted wear;
Though as for that the passing there
Had worn them really about the same,

And both that morning equally lay
In leaves no step had trodden black.
Oh, I kept the first for another day!
Yet knowing how way leads on to way,
I doubted if I should ever come back.

I shall be telling this with a sigh
Somewhere ages and ages hence:
Two roads diverged in a wood, and I—
I took the one less traveled by,
And that has made all the difference.

4 Comments

Posted Under My Articles

June 23, 2016
Posted by KOBSAK (ADMIN)

Brexit และนัยต่อไทย

สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แห่งการตัดสินใจของชนชาวอังกฤษ ที่ในเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมง จะต้องเข้าสู่การประชามติ เพื่อตอบคำถามสำคัญที่สุดในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา คือ “จะอยู่ต่อ หรือจะไปจากสหภาพยุโรป” ซึ่งถ้าไป ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของความปั่นปวนรอบใหม่ของยุโรปที่จะส่งผลกระทบถึงทุกคน

อังกฤษมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศในยุโรปต่างเริ่มเห็นความอ่อนแอของตนในเวทีโลก ซึ่งขณะนั้นมียักษ์ใหญ่คือสหรัฐยึดครองเวที ทำตัวเป็นพี่เบิ้ม คอยกำหนดทิศทางสำคัญต่างๆ

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจ ที่เราได้เห็นประเทศต่างๆ ในยุโรป พยายามร่วมกลุ่มกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในเวทีโลกในด้านต่างๆ กับสหรัฐ โดยในปี 2500 มี 6 ประเทศในยุโรป คือ เยอรมันตะวันตก ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยี่ยม ลักซ์เซมเบิรก์ และเนเธอร์แลนด์ ได้ลงนามภายใต้สนธิสัญญาโรม เพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรปขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของสหภาพยุโรปที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้

สำหรับอังกฤษนั้น ไม่ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของผู้ก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป จนกระทั่งสี่ปีให้หลัง
หรือปี 2504 ได้ตัดสินใจสมัครขอเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มดังกล่าว แต่ฝรั่งเศสได้ใช้สิทธิวีโต้ไม่ให้อังกฤษเข้าร่วมด้วย (บนพื้นฐานว่า นโยบายไม่สอดคล้อง ไม่น่าจะไปด้วยกันได้) จนกระทั่งถึงปี 2516 ที่ความพยายามดังกล่าวของรัฐบาลอังกฤษได้ประสบความสำเร็จ ได้รับการตอบรับให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจหรือตลาดร่วม (Common Market) ยุโรปในที่สุด

แต่ใน 1 ปีให้หลัง ครั้นเมื่อมีการเปลี่ยนขั้วการเมืองของรัฐบาลอังกฤษ จากความกังวลใจว่าการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจยุโรปนั้น จะนำมาซึ่งปัญหาทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายราคาสินค้าเกษตร (ที่ราคาต่างกันมาก) ตลอดจนนำไปสู่การสูญเสียอิสระภาพ ในการกำหนดนโยบายต่างๆ รวมถึงถูกจำกัดกรอบการให้สวัสดิการเพื่อดูแลประชาชน รัฐบาลใหม่จึงได้เปิดโอกาสให้มีการลงประชามติในปี 2518 เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจด้วยตนเองว่า “จะอยู่กับตลาดร่วมของยุโรปต่อไปหรือไม่” ซึ่งเป็นการลงประชามติทั่วประเทศครั้งแรกของอังกฤษ ที่สุดท้ายแล้ว 67% ลงคะแนนเลือกที่จะอยู่ร่วมกับยุโรปต่อไป

ที่น่าสนใจที่สุดก็คือ 40 ปีให้หลัง คำถามดังกล่าวได้หวนมา เพื่อให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้งหนึ่ง แต่รอบนี้ สถานการณ์ต่างจากอดีตเป็นอย่างมาก เพราะสิ่งที่คนอังกฤษเคยกังวลใจ ทำให้ไม่อยากเข้าเป็นส่วนหนึ่งของยุโรปเมื่อครั้งนั้น ได้เกิดขึ้นเป็นจริง แล้วหลายต่อหลายอย่าง เช่น

  • การอพยพถิ่นฐานเข้าประเทศ เนื่องจากการเคลื่อนไหวอย่างเสรีของคนเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของสหภาพยุโรป โดยคนในสหภาพมีสิทธิที่อยู่และทำงานที่ไหนก็ได้ ประตูเมืองของอังกฤษจึงต้องเปิดค้างไว้ตลอดเวลา ทำให้มีคนอพยพย้ายเข้าไปทำงานและอาศัยอยู่ในอังกฤษเพิ่มขึ้นสุทธิถึง 3.3 แสนคนในปีล่าสุด ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นำมาซึ่งปัญหาต่างๆ อาทิ แรงกดดันต่อค่าจ้างแรงงาน ระบบสวัสดิการสังคม ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่อยู่อาศัย โรงเรียน หรือโรงพยาบาล ตลอดจนเงินสวัสดิการต่างๆ ที่อังกฤษต้องจ่ายให้กับคนที่อพยพเข้ามาเหล่านี้
  • การสูญเสียอำนาจในการกำหนดกฏหมายและระเบียบต่างๆ ที่อังกฤษต้องดำเนินการผ่านกฏหมายและระเบียบต่างๆ ตามที่สหภาพยุโรปกำหนดมา โดยช่วงที่ผ่านมา กฏหมายและระเบียบของอังกฤษจำนวนมาก ได้ถูกกำหนดมาจากนโยบายส่วนกลางของสหภาพยุโรป ที่คนกลุ่มหนึ่ง (ซึ่งไม่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน) ผลิตกฏหมายและระเบียบออกมาบังคับใช้
    ปีหนึ่งเป็นพันๆ เรื่อง กับประเทศสมาชิก ครอบคลุมทุกภาคส่วนจากการเกษตร การประมง อุตสาหกรรม การพาณิชย์ และสังคม อีกทั้งอังกฤษยังไม่สามารถเจรจาการค้าในนามของตนเอง
  • ภาระต่างๆ จากการเป็นสมาชิก ที่ต้องแบกรับร่วมกัน ที่อังกฤษต้องจ่ายให้กับส่วนกลาง

ซึ่งความจริงแล้ว ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษก็ได้ต่อต้านนโยบายสำคัญหลายอย่างของสหภาพยุโรป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการไม่ยอมเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเงินยูโร หรือ วีซ่าเชงเก็น (Visa Schengen) ที่วีซ่าเดียวสามารถใช้เข้าออกประเทศต่างๆ ในยุโรปได้อย่างสะดวกสบาย

แต่ยิ่งสหภาพยุโรปพยายามที่จะหลอมรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองมากขึ้นเท่าไร มีนโยบายเดียวกันมากขึ้นเท่าไร แรงกดดันต่ออังกฤษ และกลุ่มคนอังกฤษที่ต้องการจะออกจากสหภาพยุโรปก็ยิ่งมีมากขึ้นไปเป็นเงาตามตัว

ประเด็นเหล่านี้จึงได้กลายเป็นประเด็นที่กลุ่มขับเคลื่อนให้อังกฤษออกจากยุโรป ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Leave.EU หรือ Better Off Out ได้หยิบยกขึ้นมาในการหาเสียง

แล้วจะเกิดอะไรขึ้น

ขณะนี้ ยังคงคาดการณ์ได้ยากว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แม้การสำรวจคะแนนเสียงครั้งล่าสุดจะชี้ว่า คะแนนเสียงของฝั่งออกจากสหภาพยุโรปจะเริ่มนำแล้วก็ตาม แต่ก็ยังสูสีใกล้เคียง ทุกอย่างยังสามารถพลิกผันได้เสมอ จึงกล่าวได้ว่า สองสามวันก่อนวันที่ 23 นี้จะเป็นจุดหักเหที่สำคัญ ที่ต้องกลั้นใจรอ

ถ้าอังกฤษเลือกที่จะลาจากไป ปัญหาความผันผวนต่างๆ ก็จะตามมา

ในระยะสั้น เนื่องจากแนวโน้มของผลการลงประชามติไม่ชัดในช่วงที่ผ่านมา การปรับตัวหลังประชามติของตลาดการเงินโลกจะมีนัยพอสมควร โดยเฉพาะค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องจากประมาณ 1.52 ปอนด์/ดอลลาร์ ในช่วงปลายปีที่แล้ว (ก่อนออกกฏหมายประชามติ) มาที่ 1.42 ปอนด์/ดอลลาร์ ในปัจจุบัน อาจอ่อนค่าลงเพิ่มเติม และจะกระทบต่อไปยังเงินยูโร นอกจากนี้ ราคาสินทรัพย์ต่างๆ เช่น ราคาทองคำที่กำลังปรับตัวเพิ่มขึ้น (เนื่องจากเป็น safe haven) ดัชนีหุ้นของอังกฤษ (FTSE 100) ซึ่งลดลงจาก 6,400 จุดเมื่อปลายปีที่แล้ว ลงมาที่ 6,020 จุด ในปัจจุบัน อาจจะได้รับผลกระทบเพิ่มเติม และอาจจะส่งผลมายังตลาดการเงินประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยด้วยในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก

ในระยะยาว ผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาวนั้น จะมีความกว้างไกลไปยิ่งกว่าผลต่อตลาดการเงินในระยะสั้น โดยอังกฤษมีเวลาอีกประมาณ 2 ปี ที่จะดำเนินการออกจากสหภาพยุโรปตามผลของการประชามติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะกระทบกับ

  • ภาคการค้าของอังกฤษ ซึ่งค้าขายกับยุโรปเป็นส่วนใหญ่ โดยประมาณ 47% เป็นการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป และประมาณ 54% เป็นการนำเข้าจากสหภาพยุโรป อันจะส่งผลต่อไปให้ GDP ของอังกฤษลดลงในระยะยาว ประมาณ 1-2% จากการออกจากข้อตกลงการค้าเสรีกับกลุ่มสหภาพยุโรป
  • ภาคการเงินของอังกฤษ ที่เคยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการเงินของยุโรปในช่วงที่ผ่านมา ต่อไปจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ deal ต่างๆ จากยุโรปที่มาตกลงกันที่อังกฤษ และใช้อังกฤษเป็นศูนย์กลางในการระดมเงิน จะมีความซับซ้อนมากขึ้น นอกจากนี้ ความหวังที่อังกฤษจะเป็นศูนย์กลางในการชำระเงิน (payment and settlement) ให้กับยุโรปก็จะยากยิ่งขึ้น
  • ในด้านการลงทุน บริษัทต่างๆ ที่เคยใช้อังกฤษเป็นฐานสำคัญในการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคยุโรป และเป็นทางเลือกสำคัญเมื่อจะลงทุน ก็ต้องปรับกลยุทธ์และประเมินใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ที่ต้องกังวลใจยิ่งไปกว่าผลกระทบเหล่านี้ ก็คือ สิ่งที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีสก๊อตแลนด์ ที่อาจจะใช้โอกาสนี้ ขอทบทวนประชามติเรื่องการออกจากอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคนสก๊อตแลนด์เลือกที่จะอยู่กับสหภาพยุโรปต่อไปขณะที่อังกฤษเลือกที่จะจากไป และอาจมีประเทศอื่นๆ ที่ต้องการเดินตามรอยอังกฤษ และขอออกจากสหภาพยุโรปเป็นรายต่อๆ ไป เช่น สาธารณรัฐเช็ก และประเทศอื่นๆ ที่มีกลุ่มคนซึ่งไม่แน่ใจกับการเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปแต่ต้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของสหภาพยุโรปต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น สหภาพยุโรปที่ไม่มีอังกฤษที่เป็นสมาชิกใหญ่อันดับสองอยู่ด้วย ก็จะขาดความสมดุล ถูกชักนำได้ง่ายจากนโยบายของพี่ใหญ่ คือ เยอรมันและฝรั่งเศส

แต่ถ้าอังกฤษเลือกที่จะอยู่ต่อ ความผันผวนต่างๆ ที่รออยู่ข้างต้น ก็คงสงบลงไป เหมือนกับหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการลงประชามติครั้งที่แล้วของสก๊อตแลนด์ (ที่ท้ายสุด ก็ตัดสินใจอยู่กับอังกฤษต่อ) ความกังวลใจว่ารัฐบาลสหรัฐจะผิดนัดชำระหนี้ (ที่ท้ายสุด ก็จ่ายเป็นปกติ) เป็นต้น

หากอังกฤษเดินไปตามทางสายนี้จริง ก็ต้องขอฟันธงไว้ก่อนว่า ปัญหาคงไม่จบลงไปตรงนี้ แค่เพียงหลบใน ซ่อนตัวลงไปอีกครั้ง รอวันที่ความไม่พอใจจะประทุ คุกรุ่นขึ้นมาอีกรอบ

ที่กล่าวเช่นนี้ ก็เพราะว่า สิ่งที่คนอังกฤษไม่พอใจและหยิบยกขึ้นมานั้นเป็นปัญหาที่มีมูล เป็นปัญหาจริง ที่นับวันจะลุกลามมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาคนอพยพเข้าเมืองที่เข้าไปเบียดบังคนอังกฤษ โดยรัฐบาลไม่สามารถจะทำอะไรได้ เพราะถูกมัดไม้มัดมือไว้จากข้อตกลงกับยุโรป นอกจากนี้ กลไกราชการส่วนกลางของสหภาพยุโรปก็จะเทอะทะมากขึ้น ใหญ่ขึ้น มีอำนาจขึ้น และเข้าแทรกแซงรัฐสมาชิกมากขึ้น (ซึ่งเป็นแนวโน้มที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูง จากความเชื่อของหลายคนในสหภาพยุโรปว่า ทางออกจากวิกฤตในสหภาพยุโรปที่เกิดขึ้นใน 5-7 ปี ที่ผ่านมา คือการต้องหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวให้มากยิ่งขึน ในทุกๆ ด้าน) ความคับที่คับใจของคนอังกฤษก็คงจะเพิ่มมากขึ้น

ท้ายสุด ถ้าสหภาพยุโรปไม่สามารถปฏิรูปตนเองให้ดีขึ้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้อย่างที่หลายคนกังวลใจ อังกฤษก็อาจจะต้องกลับมาคิดเรื่องจากการออกจากสหภาพยุโรปกันอีกครั้ง

ผลกับไทยและสิ่งที่เราต้องเตรียมการ

สำหรับไทยนั้น หากอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ผลกระทบผ่านตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและการเงินโลก มาถึงไทยนั้นคงมีบ้าง โดยเฉพาะช่วง 1-2 สัปดาห์แรก แต่เราก็น่าจะรองรับกับความผันผวนดังกล่าวได้ ส่วนผลกระทบอีกด้าน คือ ด้านการค้าของไทยกับอังกฤษและสหภาพยุโรปทุกประเทศนั้น ปัจจุบันอยู่แค่เพียง 1.8% และ 10.2% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยตามลำดับ ผลกระทบจึงคงมีไม่มาก ยิ่งไปกว่านั้น กว่าผลประชามติจะทำให้อังกฤษต้องออกจากสหภาพยุโรปจริง ก็คงใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งก็หมายความว่าต่อไปว่า ผลต่อไทยด้านการค้าคงไม่เกิดขึ้นเร็ววัน ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนครับ

 

No Comments

Posted Under Bangkokbiznews My Articles

June 17, 2016
Posted by KOBSAK (ADMIN)

ธนาคารกลางสหรัฐ และ ความผันผวนในตลาดการเงินโลก

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ดัชนีค่าเงินสหรัฐได้ลดค่าลงอย่างรวดเร็วถึง 1.7% จากเดิมที่ทยอยแข็งตัวมาสี่สัปดาห์ต่อเนื่อง ราคาทองคำโลกเพิ่มขึ้น 34 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือเพิ่มประมาณ 2.8% จากที่ลดลงต่อเนื่องมาเกือบเดือน ส่วนราคาพันธบัตรและสินทรัพย์อื่นๆ ก็ได้ปรับตัวเช่นกัน

ทั้งหมดนี้ เมื่อกล่าวไปแล้วเป็นผลเนื่องมาจากเฟดหรือธนาคารกลางสหรัฐ

ธนาคารกลางสหรัฐ : ต้นตอสำคัญของความผันผวนในตลาดการเงินโลก

ไม่ว่าจะมองในมุมไหน ข้อสรุปสำคัญสำหรับหนึ่งปีที่ผ่านมา ก็คือ ธนาคารกลางสหรัฐเป็นต้นตอสำคัญของความผันผวนต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดการเงินโลก

ครั้งที่ 1 ถ้าทุกคนลองย้อนกลับไปดูจะพบว่า เมื่อคุณเยเลน ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ ประกาศจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงปลายปีที่แล้ว พร้อมส่งสัญญาณไปข้างหน้าว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 4 ครั้งในช่วงปี 59 ตลาดและนักลงทุนซึ่งศรัทธาและเชื่อตามนั้น จึงได้เตรียมการรองรับ ส่งผลให้เบ็ดเสร็จแล้วค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น 7% จากระดับที่ 94 จุด เป็น 100.5 จุด ในช่วงสั้นๆ เพียง 6 สัปดาห์ ส่งผลต่อการไหลเวียนของเงินทุนในระบบการเงินโลกและค่าเงินของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (ซึ่งรวมถึงไทยด้วย) ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงไปแตะระดับ 36.4 บาทต่อดอลลาร์

ครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดความปั่นปวนในตลาดการเงินของประเทศต่างๆ เมื่อเริ่มต้นปี เช่น ในจีน ที่ปิดการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไปหลายครั้ง ในสหรัฐ ที่ดัชนี Dow Jones ลดลงจาก 17,500 เหลือเพียง 15,500 รวมไปถึงผลพวงต่อประเทศอื่นๆ ตลาดจึงได้เริ่มปรับมุมมองเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของธนาคารสหรัฐอีกรอบ ว่าเฟดคงไม่สามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ตามที่เคยประกาศไว้ ต้องยอมชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยออกไป ซึ่งเมื่อกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐบางท่านออกมายืนยัน ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและตลาดการเงินโลกจึงเข้าสู่ช่วงของความผันผวนรอบใหม่ โดยในครั้งนี้ ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ย้อนไปแตะ 92 จุดหรืออ่อนลงถึง 8.4% ทำให้ค่าเงินในกลุ่มประเทศเกิดใหม่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยสำหรับไทย แข็งไปที่ 34.7 บาทต่อดอลลาร์ (ซึ่งถ้าแบงก์ชาติเราไม่เข้ามาช่วยต้านไว้ จนเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เงินบาทก็คงแข็งขึ้นไปอีกหลายบาท)

ครั้งที่ 3-4 สำหรับความผันผวนรอบล่าสุด ในช่วงปลายเดือนที่แล้ว หลังจากมีการเผยแพร่บันทึกการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐเมื่อครั้งปลายเดือนเมษายน ซึ่งชี้ว่า กรรมการส่วนมากเห็นตรงกันว่า ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐพัฒนาดีขึ้นตามคาด ก็จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่สองในการประชุมกลางเดือนมิถุนายนนี้ ตลาดและนักลงทุนจึงเริ่มเตรียมการรอบใหม่ เพื่อรองรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอีกรอบไปที่ประมาณ 96 จุด ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง ก่อนที่จะเปลี่ยนทิศทางอีกครั้งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐที่ประกาศออกมา เพิ่มเพียง 38,000 ตำแหน่ง จากที่คาดกันไว้ที่ 160,000 ตำแหน่ง และที่เฉลี่ยปกติประมาณ 200,000 ตำแหน่ง ทำให้หลายคนคิดว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดคงต้องชะลอออกไป

บทเรียนจากทั้งหมดนี้ คืออะไร

บทเรียนสำคัญจากทั้งหมดนี้ ก็คือ เราต้องอยู่กับความผันผวนเช่นนี้ไปอีกระยะ และอนาคตจะมีความผันผวนครั้งที่ 5 6 7 8 … ต่อไป

โดยปกติแล้ว ธนาคารกลางสหรัฐเป็นธนาคารกลางที่โปร่งใสที่สุด มีการตัดสินใจที่เข้าใจง่าย ชัดเจนที่สุด โดยเมื่อจะขึ้นดอกเบี้ย ก็จะเริ่มเตรียมตลาด ครั้นเริ่มขึ้นดอกเบี้ย ก็จะเข้าสู่ช่วงที่เรียกว่า up cycle โดยจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องทุกการประชุม ส่วนมากครั้งละ 0.25% จนบรรลุเป้าหมาย ที่ตั้งใจไว้ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงปี 47-49 เฟดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อกันเป็นเวลา 2 ปีต่อกัน จาก 1.0% เป็น 5.25% ครั้นเมื่อคงดอกเบี้ย ก็จะคงดอกเบี้ยไประยะเวลาหนึ่ง และเมื่อถึงเวลาต้องลงดอกเบี้ย ก็จะเริ่มเตรียมตลาดอีกครั้ง ครั้นเมื่อเริ่มลงดอกเบี้ย ก็จะเข้าสู่ช่วง down cycle โดยปรับลงดอกเบี้ยต่อเนื่องทุกการประชุม จนถึงระดับที่ต้องการ แล้วคงไว้ที่ระดับดังกล่าว

การทำเช่นนี้ ทำให้ตลาดไม่ต้องเดาใจคณะกรรมการฯ ว่าครั้งนี้จะขึ้น หรือจะคงดอกเบี้ย และทำให้ตลาดไปถูกทาง สามารถปรับตัวเตรียมการไปล่วงหน้าก่อน ช่วยเพิ่มประสิทธิผลของการดำเนินนโยบาย และช่วยลดความผันผวนที่ไม่จำเป็นในระบบการเงินโลก

แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดรอบล่าสุดนี้ สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ เฟดมือไม่นิ่ง ปรับมุมมองและแนวนโยบายตลอดเวลา ทำให้ตลาดต้องเริ่มเล่นเกมส์เดาใจ ว่าเฟดจะขึ้นหรือไม่ขึ้น และถ้าจะขึ้น เฟดจะดูดัชนีตัวไหนเป็นตัวตัดสินสำคัญ ซึ่งในด้านหนึ่งกล่าวได้ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐทำไปเช่นนี้ด้วยความปรารถนาดี ที่ไม่อยากผลีผลาม อยากให้เศรษฐกิจสหรัฐมีฐานที่มั่นคง พอที่จะรองรับดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นได้จริงๆ ไม่ต้องการพลาด ถอนยาก่อนที่คนป่วยจะดีขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่ง การทำเช่นนี้กลับทำให้เกิด policy uncertainty ที่สร้างความผันผวนในตลาดการเงินโลกอย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็น

ที่น่ากังวลใจยิ่งกว่านั้นคือ เมื่อเฟดเลือกทางเดินเช่นนี้ ทางเดินที่ปรับเปลี่ยนได้ตามข้อมูลที่เข้ามา หรือพูดง่ายๆ เหยียบเรือสองแคม เปิด option ไว้ตลอดเวลา ขึ้นก็ได้ คงก็ได้ สิ่งที่จะหายไปคือ (1) ประสิทธิผลของนโยบาย เนื่องจากตลาดไม่สามารถเตรียมการไปล่วงหน้าได้ว่า แนวโน้มดอกเบี้ยจะไปในทิศทางไหน และ (2) ความศักดิ์สิทธิ์และความน่าเชื่อถือของคำประกาศและคำพูดของคณะกรรมการฯ ที่จากเดิมที่ทุกคนเคยเชื่อกันสนิทใจว่า เมื่อคุณเยเลนประกาศเริ่มขึ้นดอกเบี้ย ก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของต้นทุนการกู้ยืมของทุกคนใน 2-3 ปีข้างหน้า ที่จะมีนัยอย่างกว้างขวาง ต้องเตรียมการรองรับให้เพียงพอไปข้างหน้า รวมทั้งให้น้ำหนักกับการที่คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐวางกรอบการขึ้นดอกเบี้ยไว้ที่ 4 ครั้งในปี 59 แต่เมื่อมาถึงจุดนี้ จากการกลับไปกลับมา คำพูดและคำประกาศของคุณเยเลน และคณะกรรมการฯ มีค่าเหลือแค่เพียงเป็นแนวคิด ความปรารถนา คำประกาศ คำพูดที่รับฟังเอาไว้ แต่อาจเปลี่ยนได้ หากข้อมูลไม่เอื้ออำนวย และการเตรียมการรองรับก็ทำแบบครึ่งๆ เผื่อว่าเฟดจะเปลี่ยนใจอีก

แล้วเราจะอยู่อย่างไรในช่วงเวลาเช่นนี้

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราคงต้องทำใจว่า เรากำลังอยู่ในโลกที่เราไม่คุ้นเคย โดยมีธนาคารกลางสหรัฐเป็นตัวแปรสำคัญที่สร้างความผันผวนเพิ่มเติมให้กับตลาดการเงินโลก โดยตลาดและราคาสินทรัพย์สำคัญๆ อาจปรับขึ้นลงอย่างรวดเร็ว เพียงเพราะคำพูดของคนใดคนหนึ่ง หรือจากตัวเลขใดตัวเลขหนึ่งที่ประกาศออกมา กระทบไปถึงค่าเงินสกุลต่างๆ ค่าเงินบาท รวมไปถึงการไหลเวียนของเงินทุนในตลาดการเงินโลก ซึ่งความผันผวนนี้จะเกิดขึ้นไปอีกระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งเกมส์เดาใจเฟดจบลง

ในภาวะเช่นนี้ ในระยะสั้น เราต้องพยายามปกป้องตนเอง พยายามเข้าใจธนาคารกลางสหรัฐ ว่าเขากำลังปรับยาให้ตรงกับภาวะของคนไข้ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงได้ อีกทั้งยังมีปัจจัยในเศรษฐกิจโลกที่ทำให้เฟดกังวลใจอยู่เรื่อยๆ เช่น ในเดือนนี้ จะมีการลงประชามติของอังกฤษว่าจะออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ ดังนั้น เราจึงต้องทำใจว่า ระยะนี้ยังมี policy uncertainty จากการปรับมุมมองนโยบายการเงินของเฟด ที่อาจจะเกิดขึ้นในวันไหนก็ได้ และจะกระทบกับตัวแปรการเงินต่างๆ เช่น ค่าเงินบาท ที่สามารถปรับเปลี่ยนทิศได้ในเวลาข้ามคืน ด้วยเหตุนี้ หากเราเป็นผู้นำเข้าส่งออก ในช่วงที่ยังไม่ชัดเจนเช่นนี้ จึงเหมาะต่อการเลือกปกป้องความเสี่ยงค่าเงินไว้ในราคาที่เรารับได้ มากกว่าที่จะเสี่ยงไปกับสิ่งที่เอาแน่เอานอนไม่ได้

ในระยะยาว ขอฟันธงไว้ว่า ท้ายสุดธนาคารกลางสหรัฐก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยอยู่ดี เพราะเศรษฐกิจสหรัฐโดยรวมแล้วมีข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีและปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ที่สำคัญที่สุด ดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25-0.5% นั้น ต่ำเกินไป ไม่ปกติ ต้องพยายามหาทางปรับเพิ่มกลับขึ้นมา โดยจุดหักเหสำคัญ น่าจะเกิดขึ้นเมื่อเงินเฟ้อพื้นฐานสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นทะลุระดับที่เฟดกังวลใจ (คือมากกว่า 2% จาก 1.6% ในปัจจุบัน) เมื่อถึงจุดนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐคงจะเลิกลีลา ท่ามาก เกมส์การเดาใจเฟดก็จะจบลง เฟดก็จะกลับมาเป็นธนาคารกลางที่เข้าใจง่าย ชัดเจน กระบวนการขึ้นดอกเบี้ยก็จะเดินไปตามกรอบที่คาดการณ์กันไว้

ทั้งนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐเข้มแข็งกว่าสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน การปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐจะเกิดขึ้นก่อนประเทศเหล่านั้น อันจะนำมาซึ่งการปรับตัวครั้งสำคัญในตลาดการเงินโลก และแรงกดดันรอบใหม่ให้กับประเทศในตลาดเกิดใหม่ รวมไปถึงไทยด้วย ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนครับ

1 Comment

Posted Under My Articles Post Today

    • Posts
    • Twitter
    • Flickr
     

    ก้าวให...

    My Articles

     

    ถึงเวล...

    My Articles

     

    ภาพแห่...

    My Articles

    Sorry... I have not linked my Twitter
    to my blog yet
    Sorry... I have not set my Flickr
    account up yet
  • Pages

    • About
  • Categories

    • Bangkokbiznews
    • MY AEC มีทางรวย
    • My Articles
    • My Interviews
    • My Treasures
    • Post Today
    • Uncategorized
    • ไม่มีหมวดหมู่
  • Archives

    • 2020
      • August
    • 2018
      • January
    • 2017
      • August
    • 2016
      • February
      • June
      • October
    • 2014
      • January
      • May
    • 2013
      • March
      • April
    • 2009
      • July
  • Blogroll

    • Themes
  • Subscribe2


     

This site is using the Handgloves WordPress Theme
Designed & Developed by George Wiscombe Google+

Subscribe via RSS