BLOG Dr. KOB

Dr. KOBSAK POOTRAKOOL A Macroeconomist

  • BlogArticles
  • Interviewsrecent issues
  • Treasuresfrom the web
  • About

June 23, 2016
Posted by KOBSAK (ADMIN)

Brexit และนัยต่อไทย

สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แห่งการตัดสินใจของชนชาวอังกฤษ ที่ในเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมง จะต้องเข้าสู่การประชามติ เพื่อตอบคำถามสำคัญที่สุดในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา คือ “จะอยู่ต่อ หรือจะไปจากสหภาพยุโรป” ซึ่งถ้าไป ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของความปั่นปวนรอบใหม่ของยุโรปที่จะส่งผลกระทบถึงทุกคน

อังกฤษมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศในยุโรปต่างเริ่มเห็นความอ่อนแอของตนในเวทีโลก ซึ่งขณะนั้นมียักษ์ใหญ่คือสหรัฐยึดครองเวที ทำตัวเป็นพี่เบิ้ม คอยกำหนดทิศทางสำคัญต่างๆ

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจ ที่เราได้เห็นประเทศต่างๆ ในยุโรป พยายามร่วมกลุ่มกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในเวทีโลกในด้านต่างๆ กับสหรัฐ โดยในปี 2500 มี 6 ประเทศในยุโรป คือ เยอรมันตะวันตก ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยี่ยม ลักซ์เซมเบิรก์ และเนเธอร์แลนด์ ได้ลงนามภายใต้สนธิสัญญาโรม เพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรปขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของสหภาพยุโรปที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้

สำหรับอังกฤษนั้น ไม่ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของผู้ก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป จนกระทั่งสี่ปีให้หลัง
หรือปี 2504 ได้ตัดสินใจสมัครขอเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มดังกล่าว แต่ฝรั่งเศสได้ใช้สิทธิวีโต้ไม่ให้อังกฤษเข้าร่วมด้วย (บนพื้นฐานว่า นโยบายไม่สอดคล้อง ไม่น่าจะไปด้วยกันได้) จนกระทั่งถึงปี 2516 ที่ความพยายามดังกล่าวของรัฐบาลอังกฤษได้ประสบความสำเร็จ ได้รับการตอบรับให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจหรือตลาดร่วม (Common Market) ยุโรปในที่สุด

แต่ใน 1 ปีให้หลัง ครั้นเมื่อมีการเปลี่ยนขั้วการเมืองของรัฐบาลอังกฤษ จากความกังวลใจว่าการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจยุโรปนั้น จะนำมาซึ่งปัญหาทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายราคาสินค้าเกษตร (ที่ราคาต่างกันมาก) ตลอดจนนำไปสู่การสูญเสียอิสระภาพ ในการกำหนดนโยบายต่างๆ รวมถึงถูกจำกัดกรอบการให้สวัสดิการเพื่อดูแลประชาชน รัฐบาลใหม่จึงได้เปิดโอกาสให้มีการลงประชามติในปี 2518 เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจด้วยตนเองว่า “จะอยู่กับตลาดร่วมของยุโรปต่อไปหรือไม่” ซึ่งเป็นการลงประชามติทั่วประเทศครั้งแรกของอังกฤษ ที่สุดท้ายแล้ว 67% ลงคะแนนเลือกที่จะอยู่ร่วมกับยุโรปต่อไป

ที่น่าสนใจที่สุดก็คือ 40 ปีให้หลัง คำถามดังกล่าวได้หวนมา เพื่อให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้งหนึ่ง แต่รอบนี้ สถานการณ์ต่างจากอดีตเป็นอย่างมาก เพราะสิ่งที่คนอังกฤษเคยกังวลใจ ทำให้ไม่อยากเข้าเป็นส่วนหนึ่งของยุโรปเมื่อครั้งนั้น ได้เกิดขึ้นเป็นจริง แล้วหลายต่อหลายอย่าง เช่น

  • การอพยพถิ่นฐานเข้าประเทศ เนื่องจากการเคลื่อนไหวอย่างเสรีของคนเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของสหภาพยุโรป โดยคนในสหภาพมีสิทธิที่อยู่และทำงานที่ไหนก็ได้ ประตูเมืองของอังกฤษจึงต้องเปิดค้างไว้ตลอดเวลา ทำให้มีคนอพยพย้ายเข้าไปทำงานและอาศัยอยู่ในอังกฤษเพิ่มขึ้นสุทธิถึง 3.3 แสนคนในปีล่าสุด ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นำมาซึ่งปัญหาต่างๆ อาทิ แรงกดดันต่อค่าจ้างแรงงาน ระบบสวัสดิการสังคม ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่อยู่อาศัย โรงเรียน หรือโรงพยาบาล ตลอดจนเงินสวัสดิการต่างๆ ที่อังกฤษต้องจ่ายให้กับคนที่อพยพเข้ามาเหล่านี้
  • การสูญเสียอำนาจในการกำหนดกฏหมายและระเบียบต่างๆ ที่อังกฤษต้องดำเนินการผ่านกฏหมายและระเบียบต่างๆ ตามที่สหภาพยุโรปกำหนดมา โดยช่วงที่ผ่านมา กฏหมายและระเบียบของอังกฤษจำนวนมาก ได้ถูกกำหนดมาจากนโยบายส่วนกลางของสหภาพยุโรป ที่คนกลุ่มหนึ่ง (ซึ่งไม่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน) ผลิตกฏหมายและระเบียบออกมาบังคับใช้
    ปีหนึ่งเป็นพันๆ เรื่อง กับประเทศสมาชิก ครอบคลุมทุกภาคส่วนจากการเกษตร การประมง อุตสาหกรรม การพาณิชย์ และสังคม อีกทั้งอังกฤษยังไม่สามารถเจรจาการค้าในนามของตนเอง
  • ภาระต่างๆ จากการเป็นสมาชิก ที่ต้องแบกรับร่วมกัน ที่อังกฤษต้องจ่ายให้กับส่วนกลาง

ซึ่งความจริงแล้ว ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษก็ได้ต่อต้านนโยบายสำคัญหลายอย่างของสหภาพยุโรป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการไม่ยอมเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเงินยูโร หรือ วีซ่าเชงเก็น (Visa Schengen) ที่วีซ่าเดียวสามารถใช้เข้าออกประเทศต่างๆ ในยุโรปได้อย่างสะดวกสบาย

แต่ยิ่งสหภาพยุโรปพยายามที่จะหลอมรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองมากขึ้นเท่าไร มีนโยบายเดียวกันมากขึ้นเท่าไร แรงกดดันต่ออังกฤษ และกลุ่มคนอังกฤษที่ต้องการจะออกจากสหภาพยุโรปก็ยิ่งมีมากขึ้นไปเป็นเงาตามตัว

ประเด็นเหล่านี้จึงได้กลายเป็นประเด็นที่กลุ่มขับเคลื่อนให้อังกฤษออกจากยุโรป ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Leave.EU หรือ Better Off Out ได้หยิบยกขึ้นมาในการหาเสียง

แล้วจะเกิดอะไรขึ้น

ขณะนี้ ยังคงคาดการณ์ได้ยากว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แม้การสำรวจคะแนนเสียงครั้งล่าสุดจะชี้ว่า คะแนนเสียงของฝั่งออกจากสหภาพยุโรปจะเริ่มนำแล้วก็ตาม แต่ก็ยังสูสีใกล้เคียง ทุกอย่างยังสามารถพลิกผันได้เสมอ จึงกล่าวได้ว่า สองสามวันก่อนวันที่ 23 นี้จะเป็นจุดหักเหที่สำคัญ ที่ต้องกลั้นใจรอ

ถ้าอังกฤษเลือกที่จะลาจากไป ปัญหาความผันผวนต่างๆ ก็จะตามมา

ในระยะสั้น เนื่องจากแนวโน้มของผลการลงประชามติไม่ชัดในช่วงที่ผ่านมา การปรับตัวหลังประชามติของตลาดการเงินโลกจะมีนัยพอสมควร โดยเฉพาะค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องจากประมาณ 1.52 ปอนด์/ดอลลาร์ ในช่วงปลายปีที่แล้ว (ก่อนออกกฏหมายประชามติ) มาที่ 1.42 ปอนด์/ดอลลาร์ ในปัจจุบัน อาจอ่อนค่าลงเพิ่มเติม และจะกระทบต่อไปยังเงินยูโร นอกจากนี้ ราคาสินทรัพย์ต่างๆ เช่น ราคาทองคำที่กำลังปรับตัวเพิ่มขึ้น (เนื่องจากเป็น safe haven) ดัชนีหุ้นของอังกฤษ (FTSE 100) ซึ่งลดลงจาก 6,400 จุดเมื่อปลายปีที่แล้ว ลงมาที่ 6,020 จุด ในปัจจุบัน อาจจะได้รับผลกระทบเพิ่มเติม และอาจจะส่งผลมายังตลาดการเงินประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยด้วยในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก

ในระยะยาว ผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาวนั้น จะมีความกว้างไกลไปยิ่งกว่าผลต่อตลาดการเงินในระยะสั้น โดยอังกฤษมีเวลาอีกประมาณ 2 ปี ที่จะดำเนินการออกจากสหภาพยุโรปตามผลของการประชามติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะกระทบกับ

  • ภาคการค้าของอังกฤษ ซึ่งค้าขายกับยุโรปเป็นส่วนใหญ่ โดยประมาณ 47% เป็นการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป และประมาณ 54% เป็นการนำเข้าจากสหภาพยุโรป อันจะส่งผลต่อไปให้ GDP ของอังกฤษลดลงในระยะยาว ประมาณ 1-2% จากการออกจากข้อตกลงการค้าเสรีกับกลุ่มสหภาพยุโรป
  • ภาคการเงินของอังกฤษ ที่เคยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการเงินของยุโรปในช่วงที่ผ่านมา ต่อไปจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ deal ต่างๆ จากยุโรปที่มาตกลงกันที่อังกฤษ และใช้อังกฤษเป็นศูนย์กลางในการระดมเงิน จะมีความซับซ้อนมากขึ้น นอกจากนี้ ความหวังที่อังกฤษจะเป็นศูนย์กลางในการชำระเงิน (payment and settlement) ให้กับยุโรปก็จะยากยิ่งขึ้น
  • ในด้านการลงทุน บริษัทต่างๆ ที่เคยใช้อังกฤษเป็นฐานสำคัญในการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคยุโรป และเป็นทางเลือกสำคัญเมื่อจะลงทุน ก็ต้องปรับกลยุทธ์และประเมินใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ที่ต้องกังวลใจยิ่งไปกว่าผลกระทบเหล่านี้ ก็คือ สิ่งที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีสก๊อตแลนด์ ที่อาจจะใช้โอกาสนี้ ขอทบทวนประชามติเรื่องการออกจากอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคนสก๊อตแลนด์เลือกที่จะอยู่กับสหภาพยุโรปต่อไปขณะที่อังกฤษเลือกที่จะจากไป และอาจมีประเทศอื่นๆ ที่ต้องการเดินตามรอยอังกฤษ และขอออกจากสหภาพยุโรปเป็นรายต่อๆ ไป เช่น สาธารณรัฐเช็ก และประเทศอื่นๆ ที่มีกลุ่มคนซึ่งไม่แน่ใจกับการเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปแต่ต้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของสหภาพยุโรปต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น สหภาพยุโรปที่ไม่มีอังกฤษที่เป็นสมาชิกใหญ่อันดับสองอยู่ด้วย ก็จะขาดความสมดุล ถูกชักนำได้ง่ายจากนโยบายของพี่ใหญ่ คือ เยอรมันและฝรั่งเศส

แต่ถ้าอังกฤษเลือกที่จะอยู่ต่อ ความผันผวนต่างๆ ที่รออยู่ข้างต้น ก็คงสงบลงไป เหมือนกับหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการลงประชามติครั้งที่แล้วของสก๊อตแลนด์ (ที่ท้ายสุด ก็ตัดสินใจอยู่กับอังกฤษต่อ) ความกังวลใจว่ารัฐบาลสหรัฐจะผิดนัดชำระหนี้ (ที่ท้ายสุด ก็จ่ายเป็นปกติ) เป็นต้น

หากอังกฤษเดินไปตามทางสายนี้จริง ก็ต้องขอฟันธงไว้ก่อนว่า ปัญหาคงไม่จบลงไปตรงนี้ แค่เพียงหลบใน ซ่อนตัวลงไปอีกครั้ง รอวันที่ความไม่พอใจจะประทุ คุกรุ่นขึ้นมาอีกรอบ

ที่กล่าวเช่นนี้ ก็เพราะว่า สิ่งที่คนอังกฤษไม่พอใจและหยิบยกขึ้นมานั้นเป็นปัญหาที่มีมูล เป็นปัญหาจริง ที่นับวันจะลุกลามมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาคนอพยพเข้าเมืองที่เข้าไปเบียดบังคนอังกฤษ โดยรัฐบาลไม่สามารถจะทำอะไรได้ เพราะถูกมัดไม้มัดมือไว้จากข้อตกลงกับยุโรป นอกจากนี้ กลไกราชการส่วนกลางของสหภาพยุโรปก็จะเทอะทะมากขึ้น ใหญ่ขึ้น มีอำนาจขึ้น และเข้าแทรกแซงรัฐสมาชิกมากขึ้น (ซึ่งเป็นแนวโน้มที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูง จากความเชื่อของหลายคนในสหภาพยุโรปว่า ทางออกจากวิกฤตในสหภาพยุโรปที่เกิดขึ้นใน 5-7 ปี ที่ผ่านมา คือการต้องหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวให้มากยิ่งขึน ในทุกๆ ด้าน) ความคับที่คับใจของคนอังกฤษก็คงจะเพิ่มมากขึ้น

ท้ายสุด ถ้าสหภาพยุโรปไม่สามารถปฏิรูปตนเองให้ดีขึ้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้อย่างที่หลายคนกังวลใจ อังกฤษก็อาจจะต้องกลับมาคิดเรื่องจากการออกจากสหภาพยุโรปกันอีกครั้ง

ผลกับไทยและสิ่งที่เราต้องเตรียมการ

สำหรับไทยนั้น หากอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ผลกระทบผ่านตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและการเงินโลก มาถึงไทยนั้นคงมีบ้าง โดยเฉพาะช่วง 1-2 สัปดาห์แรก แต่เราก็น่าจะรองรับกับความผันผวนดังกล่าวได้ ส่วนผลกระทบอีกด้าน คือ ด้านการค้าของไทยกับอังกฤษและสหภาพยุโรปทุกประเทศนั้น ปัจจุบันอยู่แค่เพียง 1.8% และ 10.2% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยตามลำดับ ผลกระทบจึงคงมีไม่มาก ยิ่งไปกว่านั้น กว่าผลประชามติจะทำให้อังกฤษต้องออกจากสหภาพยุโรปจริง ก็คงใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งก็หมายความว่าต่อไปว่า ผลต่อไทยด้านการค้าคงไม่เกิดขึ้นเร็ววัน ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนครับ

 

No Comments

Posted Under My Articles

No Comments Yet

You can be the first to comment!

Leave a comment

* = Required

    • Posts
    • Twitter
    • Flickr
     

    ก้าวให...

    My Articles

     

    ถึงเวล...

    My Articles

     

    ภาพแห่...

    My Articles

    AEC 2015 กับอนาคตเศรษฐกิจไทย http://t.co/3eiOFyZi

    follow me on
    twitter

    EPMG Fixed Focal and no edit February 2019-15EPMG Fixed Focal and no edit February 2019-7EPMG Fixed Focal and no edit February 2019-28EPMG Fixed Focal and no edit February 2019-23EPMG Fixed Focal and no edit February 2019-3EPMG Fixed Focal and no edit February 2019-9EPMG Fixed Focal and no edit February 2019-6EPMG Fixed Focal and no edit February 2019-19EPMG Fixed Focal and no edit February 2019-25
  • Pages

    • About
  • Categories

    • My Articles
    • My Interviews
    • My Treasures
    • MY AEC มีทางรวย
    • My Comments
  • Archives

    • 2018
      • January
    • 2017
      • August
    • 2016
      • February
      • June
      • October
    • 2015
      • November
    • 2014
      • January
      • March
      • May
      • June
      • August
      • September
    • 2013
      • January
      • February
      • March
      • April
      • May
      • July
      • August
    • 2012
      • January
      • February
      • April
      • May
      • June
      • July
      • August
      • September
      • October
      • November
      • December
    • 2011
      • January
      • February
      • March
      • April
      • May
      • June
      • July
      • August
      • September
      • October
      • November
      • December
    • 2010
      • January
      • February
      • March
      • April
      • May
      • June
      • July
      • August
      • September
      • October
      • November
      • December
    • 2009
      • March
      • April
      • May
      • June
      • July
      • August
      • September
      • October
      • November
      • December
  • Blogroll

    • Themes
  • Subscribe2


     

  • Who's Online

    3 visitors online now
    1 guests, 2 bots, 0 members
    Map of Visitors

This site is using the Handgloves WordPress Theme
Designed & Developed by George Wiscombe Google+

Subscribe via RSS